วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ปลาผีเสื้อ


ลักษณะทั่วไปของปลาผีเสื้อ
ปลาผีเสื้อมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chaetodon lunulatus อยู่ในวงศ์ Chaetodontidae ในวงศ์ประกอบไปด้วยปลาจาก 12 สกุล จำนวน 130 ชนิดพบในทะเลไทยพบไม่ต่ำกว่า 25 ชนิด ปลาผีเสื้อมีลำตัวสั้น แบนด้านข้าง ปากมีขนาดเล็กอาจยืดหดได้ ภายในปากมีฟันละเอียด ครีบหลังมีอันเดียว ประกอบด้วยก้านครีบแข็งอยู่ส่วนหน้าและก้านครีบอ่อนอยู่ถัดไป ครีบทวารมีก้านครีบแข็ง 3 อัน และแผ่นยื่นรับกับครีบหลัง ปลาผีเสื้อมีนิสัยเฉื่อยชา ว่ายน้ำหรือเคลื่อนไหวไปอย่างช้า ๆ ไม่ว่องไวเหมือนปลาอื่น ๆ เป็นปลาที่มีเนื้อไม่เป็นที่นิยมกิน รวมทั้งตัวเล็ก และจับได้ไม่มากจึงไม่นิยมกิน เพราะฉะนั้นจึงมีไว้เพื่อเลี้ยงดูเล่นจะเหมาะที่สุด นิยมเลี้ยงกันมากในวงการเลี้ยงปลาทะเลสวยงามในปัจจุบัน มีราคาดี เป็นที่สนใจและต้องการในตลาด ของวงการเลี้ยงปลาทะเลสวยงาม
ปลาในสกุลนี้รวมไปถึงปลาผีเสื้อที่หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นปลาชนิดอื่น เช่น โนรีหรือโนรีเกล็ด แต่ไม่รวมปลาที่เรียกกันว่า ปลาผีเสื้อเทวรูป หรือโนรีหนัง (Zanclus cornutus) ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกันกับปลาผีเสื้อแต่ไปใกล้ชิดกับพวกปลาขี้ตังเป็ด หรือพวกปลาแทงค์เสียมากกว่า ปลาในกลุ่มนี้มีลำตัวแบน และมีซี่ฟันเล็ก ๆ กระจายทั่วทั้งปาก อันเป็นที่มาของชื่อสกุลที่แปลไว้ว่า “มีฟันคล้ายซี่แปรง” ทั้งนี้ก็ยังมีอีกหลาย ๆ คนที่มักจะสับสนระหว่างปลาในกลุ่มปลาผีเสื้อกับปลาสินสมุทร (Angelfish) ซึ่งอยู่ในวงศ์ Pomacanthidae แต่จุดเด่นที่แตกต่างคือปลาผีเสื้อไม่มีเงี่ยงที่ใต้กระบังเหงือก
ชื่อของปลาผีเสื้อในบ้านเรานั้นมักจะตั้งขึ้นจากลวดลาย และสีสันบนลำตัวของปลา โดยมีคำว่าผีเสื้อนำหน้าซึ่งคำว่าปลาผีเสื้อนี้จะหมายถึงปลาในสกุล Chaetodon, Forcipiger, และHemitaurichthys เป็นหลัก ส่วนปลาผีเสื้อในสกุล Chelmon, Parachaetodon และ Coradion นั้นจะถูกเรียกว่า กระจิบ ในขณะที่ โนรี นั้นจะหมายถึงปลาในสกุล Heniochus เพียงชนิดเดียว
การแพร่กระจายของปลาผีเสื้อ
ปลาในกลุ่มนี้มีการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในแนวปะการังตามเขตอบอุ่นทั่วโลก ทั้งในมหาสมุทรแอตแลนติก และในเขตอินโด-แปซิฟิก ปลาในกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในระดับความลึกที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้เราสามารถพบปลาผีเสื้อได้ในบริเวณที่น้ำมีความสะอาด และมีความอุดมสมบูรณ์ตั้งแต่ระดับความลึกเพียงเอวไปจนถึงระดับระดับความลึกหลายร้อยเมตร และปลาผีเสื้อหลายชนิดยังมีเขตกระจายพันธุ์ที่จำกัด เช่น ผีเสื้อเกาะอีสเตอร์ (Chaetodon litus) ที่พบเฉพาะรอบ ๆ เกาะอีสเตอร์กลางมหาสมุทรแปซิฟิก
ความชุกชุมของปลาผีเสื้อในแนวปะการังทั่วน่านน้ำไทย ได้แก่ เกาะค้างคาว จ.ชลบุรี หมู่เกาะชุมพร จ.ชุมพร เกาะขาม เกาะหนู เกาะแมว จ.สงขลา เกาะลอปี เกาะโลซิน จ.นราธิวาส หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา หมู่เกาะเภตรา หมู่เกาะตะรุเตา จ.สตูล พบว่า มีปลาผีเสื้อวงศ์ Chaetodontidae จำนวน 42 ชนิด (ไม่รวมปลาผีเสื้อเทวรูป) ความหลากหลายของปลาผีเสื้อในแต่ละบริเวณมากน้อยแตกต่างกันไปตามสภาพแนวปะการัง กล่าวคือ หากแนวปะการังมีความอุดมสมบูรณ์มากความหลากหลายของปลาผีเสื้อก็จะมาก ในทางกลับกันหากความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังมีน้อยความหลากหลายของปลาผีเสื้อก็จะน้อยตามไปด้วย
ปลาผีเสื้อชนิดใหม่ซึ่งเป็นชนิดแรกที่พบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยพบที่เกาะซินมี 2 ชนิดด้วยกันค่ะคือ ผีเสื้อจุดดำ(Ovalspot Butterflyfish) และ Chaetodon baronessa (Eastern triangle butterfly fish) นอกจากนี้ยังพบปลาผีเสื้ออีก 3 ชนิดที่พบว่ามีการแพร่กระจายทางฝั่งอ่าวไทยเป็นครั้งแรก ได้แก่ ผีเสื้อลายไขว้ (Chaetodon auriga) ผีเสื้อพระจันทร์ (Chaetodon lunula) และผีเสื้อลายเส้น (Chaetodon lineolatus) เนื่องจากปลาผีเสื้อทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวนั้นมีรายงานพบเฉพาะที่ฝั่งทะเลอันดามันเท่านั้น
ปลาผีเสื้อเกาะอีสเตอร์ (Chaetodon litus) พบเฉพาะรอบ ๆ เกาะอีสเตอร์กลางมหาสมุทรแปซิฟิก
สังคมของปลาผีเสื้อ
ปลาผีเสื้ออาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงหรือเป็นคู่ แต่ปลาผีเสื้อหลายชนิดมีการเลือกเพียงครั้งเดียวตลอดชีวิต หรืออย่างน้อย ๆ หกปี ที่สำคัญพบว่าปลาผีเสื้อหลายชนิดจะมีจุดสีดำบริเวณโคนหางหรือปลายครีบและพรางดวงตาที่แท้จริงด้วยแถบสีดำ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะเอาตัวรอดจากศัตรูไม่ให้เข้าจู่โจมได้ง่าย ๆ
ปลาผีเสื้อเป็นปลาที่หากินในเวลากลางวัน เมื่อพลบค่ำจะหลบเข้าไปหาที่หลับนอนตามซอกหิน หรือโพรงปะการัง ในเวลากลางคืนปลาผีเสื้อจะเปลี่ยนสีตัวเองให้เข้มขึ้นโดยจะเป็นแต้มสีน้ำตาล หรือแถบสีเทาก็เพื่อให้ปลอดภัยจากอันตรายและศัตรูตามธรรมชาติ
การสืบพันธุ์ของปลาผีเสื้อ
ปลาในกลุ่มนี้จะสืบพันธุ์วางไข่โดยการปล่อยไข่ให้ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ ก่อนจะรอวันให้ลูกปลาฟักออกมาเป็นตัวและกลับไปอาศัยในแนวปะการังต่อไป ลูกปลาผีเสื้อแทบทุกชนิดมีรูปร่างหน้าตาแทบจะเหมือนกับตัวเต็มวัย โดยมักจะมีจุดบริเวณครีบหลัง และเมื่อลูกปลาโตขึ้นจุดที่ว่านี้ก็จะหายไปเช่นเดียวกับในแนวปะการังอื่น ๆ อีกหลายชนิด ตัวอย่างเช่น ปลาผีเสื้อพระจันทร์เมื่อวัยอ่อนจะมีจุดสีดำที่ปลายครีบก้น แต่เมื่อโตขึ้นลวดลายดังกล่าวนั้นก็จะหายไปและจะมีลักษณะเหมือนกับพ่อ-แม่ปลา
การเลี้ยงปลาผีเสื้อ
ปลาผีเสื้อจะเป็นปลาสวยงามที่ได้รับความสนใจ แต่ปลาในกลุ่มปลาผีเสื้อนั้นไม่ใช่ปลาที่สามารถเลี้ยงได้ง่าย หลายชนิดไม่สามารถเลี้ยงให้รอดได้ เช่น ปลาผีเสื้อลายเสือ (Chaetodon meyeri) หรือแม้กระทั่งผีเสื้อเหลือง (C. andamanensis) เนื่องจากอาหารหลักของพวกมันคือโพลิปของปะการังเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับปลาผีเสื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการกินอาหาร ตลอดจนความไปได้ในการดำรงชีวิต ในเบื้องต้นพบว่าปลาจะยังไม่กินอาหารสำเร็จรูปที่ให้ในทันที และวิธีที่ดีที่สุดในการฝึกปลาให้กินอาหรนั้นก็คือ การให้หอยลายอ้าเปลือกที่ล้างให้สะอาดด้วยน้ำจืด หรืออาหารทะเลสดสับละเอียดที่แช่แข็งแล้วบิให้ปลากินทีละน้อย หรืออาจเลี้ยงปลาผีเสื้อด้วยไรทะเลที่สะอาดด้วยการล้างด้วยน้ำจืดหลาย ๆ ครั้งแล้วแช่น้ำจืดไว้ประมาณ 10 นาทีก่อนให้ จากนั้นให้ผู้เลี้ยงสังเกตการณ์กินของปลาหากปลากินอาหารดีขึ้นก็อาจจะลองให้อาหารสำเร็จรูปสลับ
อย่างไรก็ตามในการเลี้ยงปลาผีเสื้อนั้นผู้เลี้ยงต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ทั้งในเรื่องการควบคุมคุณภาพน้ำ อุณหภูมิ และอาหาร อันเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้น ๆ ในการรักษาชีวิตของปลากลุ่มนี้ให้รอดในระยะยาว


ปลาผีเสื้อ 12 สกุล ได้แก่
1 Amphichaetodon 7 Hemitaurichthys
2 Chaetodon 8 Heniochus
3 Chelmon 9 Johnrandallia*
4 Chelmonops 10 Roa
5 Coradion 11 Parachaetodon*
6 Forcipiger 12 Prognathode
หมายเหตุ: * แทนความเป็น Monotypic Genus อันหมายความว่าทั้งสกุลมีปลาเพียงชนิดเดียว
ปลาผีเสื้อชนิดต่าง ๆ
ปลาผีเสื้อที่พบในประเทศไทยมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน บางชนิดพบเฉพาะในอ่าวไทย บางชนิดพบเฉพาะฝั่งมหาสมุทรอินเดีย และบางชนิดพบอยู่ทั้งสองฝั่ง แต่นำมาฝากคนรักปลาผีเสื้อนั้นจำนวน 7 สกุล15 ชนิดพร้อมกับลักษณะและพฤติกรรมที่น่าสนใจบางประการอีกด้วยเริ่มจาก
สกุล Hemitaurichthys
เป็นปลาผีเสื้อกลุ่มที่หากินกับแพลงก์ตอนที่ลอยมากับกระแสน้ำเป็นหลัก แทนที่จะเป็นปะการังอย่างผีเสื้อสกุลอื่น ๆ แต่ถึงกระนั้นพวกมันก็ยังต้องพึ่งแนวปะการังเป็นที่หลบซ่อนตัวและเป็นแหล่งอาหารเช่นเดียวกับผีเสื้อชนิดอื่น ๆ
การที่เลี้ยงปลากลุ่มนี้ซึ่งกินแพลงก์ตอนเป็นอาหารจึงทำให้พวกมันสามารถปรับตัวให้เข้ากับได้ดีกว่าชนิดอื่น ๆ ปลาในกลุ่มนี้ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีคงหนีไม่พ้น ผีเสื้อม้าลาย (Hemitaurichthys zoster) เป็นปลาผีเสื้อเพียงตัวเดียวที่พบได้ในน่านน้ำไทย

ที่มา : http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/bm521/ns01_2/seafish/butter1.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น