วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

ปลาลูโซโซ่


Lusosso ลูโซโซ่

ชื่อไทย ลูโซโซ่
ชื่อวิทยาศาสตร์ Distichodus lusosso
ชื่อสามัญ Long snout distichodus
ถิ่นกำเนิด ทวีปแอฟริกาในตอนกลางและตอนใต้ของแม่น้ำคองโก และทะเลสาปแทงแกนยิกา
ขนาด ประมาณ 24 นิ้วในธรรมชาติ ประมาณ 12 นิ้วในตู้เลี้ยง
ลักษณะรูปร่าง เป็นปลาในอันดับ Characiformes ที่มีขนาดใหญ่ ในปลาขนาดเล็กมีพื้นลำตัวเป็นสีทองอมแดงมีลายดำ 6 เส้นคาดเป็นแนวตั้งตลอด เมื่อปลามีขนาดใหญ่ประมาณ 6 นิ้วขึ้นไป สีของลำตัวจะคล้ำลงเป็นสีน้ำตาลอมเขียว ลายจะไม่คมชัดเหมือนปลาขนาดเล็ก ทั้งปลาขนาดเล็กและใหญ่มีครีบต่างๆเป็นสีออกส้มแดง
การเลี้ยงดู
ลูโซโซ่เป็นปลาที่ว่ายน้ำว่องไว และว่ายได้ทุกระดับน้ำ ตู้เลี้ยงจึงควรมีขนาดใหญ่ ขนาดตู้ที่แนะนำคือ ตู้ขนาด 60 นิ้วขึ้นไป เพื่อรองรับขนาดโตเต็มที่ของมัน ตู้เลี้ยงควรมีฝาปิดมิดชิดเพราะเป็นปลาชนิดที่กระโดดเก่ง ไม่จำเป็นต้องตกแต่งตู้เลี้ยงมากมายอะไร ปลากลุ่มนี้ปรับตัวกับสภาพตู้เลี้ยงโล่งได้ดี ไม่ควรตกแต่งตู้เลี้ยงด้วยพรรณไม้น้ำ เพราะมีอุปนิสัยชอบกัดแทะ และกินพืชน้ำเป็นอาหาร ส่วนระบบส่องสว่างนั้นจะช่วยได้เรื่องความสวยงามของปลา สีสันของลำตัวจะเป็นสีส้มแดงแวววาวเมื่อถูกแสงไฟ แต่เมื่ออยู่ในที่มืดจะไม่สวยงามนัก
เรื่องของน้ำ เป็นปลาที่ไม่ต้องการค่าน้ำที่สลับซับซ้อนอะไร เพียงแค่น้ำสะอาดปราศจากคลอรีนก็เลี้ยงปลากลุ่มนี้ได้สบาย
อาหาร ลูโซโซ่เป็นปลาที่กินพืชเป็นหลัก (herbivorous) ในที่เลี้ยงจัดเป็นปลาที่กินอาหารได้ง่าย จนดูเหมือนเป็นปลาจะค่อนข้างชอบกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เป็นปลาที่แทบจะไม่มีปัญหาเรื่องการกิน บางครั้งพบว่าหลังจากที่ปล่อยลงเลี้ยงได้ไม่กี่ชั่วโมงก็ขึ้นมากินอาหารสำเร็จรูปได้เลย ในที่เลี้ยงสามารถกินอาหารได้แทบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น กุ้งฝอย หนอนนก ไส้เดือนฝอย หนอนแดง ไรทะเล กุ้งทะเลสำหรับปรุงอาหารก็ได้นำมาแกะเปลือกและหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ผู้เลี้ยงควรสลับให้อาหารประเภทพืชผักบ้างตามโอกาส เช่น กะหล่ำปลีหั่นฝอย ผักโขมต้ม หรือจะให้เป็นอาหารสำเร็จรูปสูตรสำหรับปลากินพืชก็ได้
เพื่อนร่วมตู้ หรือ Tankmate จริงแล้วๆ ลูโซโซ่เป็นปลาที่ค่อนข้างเรียบร้อยกับปลาชนิดอื่นๆ มักจะทะเลาะในระหว่างพวกเดียวกันเองเสียมากกว่า จึงไม่ควรเลี้ยงปลากลุ่มนี้เป็นคู่เพราะมักจะเกิดปัญหาตบตีกัน การเลี้ยงรวมเป็นฝูงหลายๆตัวจะช่วยลดปัญหาการต่อสู้ระหว่างกันได้ดี หลายๆท่านอาจจะเคยได้ยินมาว่า “ลูโซโซ่เป็นปลาที่ดุ” จะไปเหมารวมแบบนั้นก็ไม่ได้เสียทีเดียว ซึ่งสภาพการปรับตัวให้เข้ากับปลาชนิดอื่นๆนั้นมีเรื่องนิสัยของปลาแต่ละตัวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเพราะจากประสบการณ์ ปลาชนิดนี้จะมีทั้งประเภทที่ก้าวร้าว ชอบไปไล่กวด หรือตอดหางปลาอื่น บางตัวก็เป็นปลาที่ขี้แย ขี่ตื่นตกใจ สามารถรวมกับปลาขนาดเล็กๆได้ก็มี แต่ชนิดของเพื่อนร่วมตู้ที่แนะนำคือปลาขนาดกลาง เช่น กลุ่มปลาบาร์บขนาดกลางของทวีปเอเชีย เช่น ฉลามหางไหม้ ตะเพียนชนิดต่างๆ และคาราซินขนาดกลางอื่นๆ เช่น ซิลเวอร์ดอลล่าร์ รวมถึงกลุ่มปลาพื้นตู้พวกปลาแพะ ปลาหมู ปลาแมว ปลาซักเกอร์ชนิดต่างๆ เป็นต้น ในปัจจุบัน นิยมเลี้ยงปลากลุ่มนี้เป็นเพื่อนร่วมตู้ของปลาอะโรวาน่ากันอย่างกว้างขวาง
การเพาะพันธุ์ ถึงแม้ว่าจะสามารถเลี้ยงลูโซโซ่จนมีขนาดได้ใหญ่โตมากในที่เลี้ยง จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีรายงานการเพาะพันธุ์ในที่เลี้ยงได้สำเร็จ ปลาที่พบเห็นในตลาดปลาสวยงามเป็นปลาที่รวบรวมจากธรรมชาติทั้งหมด

ที่มา : http://www.proaquaclub.com/proscoop-Lusosso-%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B9%82%E0%B8%8B%E0%B9%82%E0%B8%8B%E0%B9%88-19.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น