วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

ปลาม้าลาย



ชื่อสามัญ Zebra danio.

ชื่อวิทยาศาสตร์ Danio rerio (Hamilton, 1822)

ลักษณะทั่วไปของปลาม้าลาย

ปลาม้าลายมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียด้านตะวันออก จัดได้ว่าเป็นปลาสวยงามอีกชนิดหนึ่งที่เพาะพันธุ์ง่าย และมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงขอสภาพแวดล้อมได้ดี จึงเหมาะแก่การเริ่มฝึกหัดเพาะพันธุ์ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องคอยดูแลเอาใจใส่มากนัก ปลาม้าลายเมื่อโตเต็มที่ มีขนาดได้ประมาณ 5 เซนติเมตร สีที่ลำตัวเป็นสีเหลือบน้ำเงิน สลับด้วยสีเขียวมะกอกดำ จำนวน 3 เส้น เป็นแนวยาวตลอดลำตัวจนถึงส่วนหางทำให้มองเห็นลักษณะลวดลายคล้ายม้าลาย จึงได้เรียกปลาชนิดนี้ว่าปลาม้าลาย และบริเวณใต้ปากมีหนวดอยู่จำนวน 2 เส้น ปลาชนิดนี้ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงๆ ในบริเวณที่มีแสงสว่างพอสมควร การว่ายน้ำ และการผสมพันธุ์มีความว่องไวปราดเปรียว มักว่ายน้ำอยู่บริเวณผิวน้ำอยู่ตลอดเวลา

การเพาะพันธุ์ปลาม้าลาย

การคัดพ่อแม่พันธุ์

ก่อนที่เริ่มลงมือเพาะพันธุ์ปลาม้าลาย ผู้เพาะพันธุ์ต้องแยกเพศปลาจากรูปร่างปลาเสียก่อน ลักษณะปลาม้าลายตัวเมีย มีลำตัวป้อม และสั้นกว่าตัวผู้ เมื่อปล่อยให้ปลาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เห็นได้ว่าตัวผู้มักไล่ต้อนตัวเมียอยู่เสมอ
ปลาที่นำมาเพาะพันธุ์ต้องเป็นปลาที่สมบูรณ์ และแข็งแรง หรือเจริญเป็นตัวเต็มวัยเสียก่อน โดยที่พ่อพันธุ์ควรมีรูปร่างปราดเปรียว สีสันสดใส เครื่องทรงครบสมบูรณ์ไม่ฉีกขาด สำหรับแม่พันธุ์ควรเลือกให้มีลักษณะเหมือนกับตัวผู้ แต่ตรงบริเวณส่วนท้องต้องอูมหรือเต่งใหญ่แสดงถึงความแก่ของปลา ดังนั้นการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์พยายามอย่าเลือกปลาที่ไม่ยอมเข้าอยู่รวมกลุ่มกับตัวอื่นมาเพาะ เนื่องจากไม่ช่วยในการผสมพันธุ์แล้ว ยังก่อให้เกิดผลจากการกินไข่ที่ออกมาด้วย

อุปกรณ์การเพาะพันธุ์

1 ตู้ที่ใช้เพาะพันธุ์ ควรมีขนาด 12 นิ้ว หรือจะมีขนาดใหญ่กว่านี้ก็ได้ ตามความเหมาะสม
2 พันธุ์ไม้น้ำ เช่นสาหร่ายต่างๆ ประมาณ 1-3 ต้น
3 ก้อนกรวดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร
4 ตะแกรงลวดหรือตะแกรงพลาสติก ขนาดเท่ากับความกว้างของตู้ปลา เพื่อป้องกันมิให้พ่อแม่พันธุ์เล็ดลอดออกมากินไข่
5 น้ำสำหรับใช้ในการเพาะพันธุ์ ควรเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากเชื้อโรคและคลอรีน
หลังจากเตรียมอุปกรณ์เพาะพันธุ์เรียบร้อยแล้ว ควรเลือกสถานที่ตั้งตู้ปลาให้มีแสงแดดอ่อน ๆ ส่องลงมาอย่างทั่วถึง ประมาณวันละ 2-3 ชั่วโมง ปลูกพันธุ์ไม้จำพวกสาหร่ายลงไปประมาณ 2-3 ต้น แล้วนำกรวดที่เตรียมไว้ปูทับลงไปให้สูงจากพื้นตู้ประมาณ 1 นิ้ว แล้วเติมเกลือเล็กน้อย เพื่อป้องกันเชื้อโรค ใส่น้ำให้ได้ระดับ ใช้ตะแกรงกั้นแบ่งตู้ปลาออกเป็นสองชั้น

การเพาะพันธุ์

เมื่อจัดวางอุปกรณ์พร้อมทุกอย่างแล้ว ให้ปล่อยแม่พันธุ์ที่ท้องแก่เต็มที่ลงไปไว้ในตู้ก่อนสัก 2 วัน เพื่อการสร้างความเคยชินกับน้ำ และสถานที่เพาะพันธุ์เสียก่อน จากนั้นให้นำพ่อพันธุ์ปล่อยลงไปอยู่กับแม่พันธุ์ภายในตู้เพาะพันธุ์ ในอัตราส่วนตัวเมียต่อตัวผู้ เท่ากับ 1 ต่อ 3-4 ตัว ส่วนใหญ่แล้วนักเพาะพันธุ์มักนิยมปล่อยในช่วงเย็นดีที่สุดเพราะแม่พันธุ์มักวางไข่ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น เนื่องจากปลาม้าลายมีการผสมพันธุ์ได้รวดเร็ว สามารถปล่อยไข่ออกมาขณะที่ว่ายจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ตัวผู้ที่ปล่อยเป็นจำนวนมากนั้นก็เพื่อช่วยผลิต และฉีดน้ำเชื้อไปยังกลุ่มไข่ได้อย่างทั่วถึง ถ้าเราใช้ตัวผู้เพียงตัวเดียวน้ำเชื้อไม่ทั่วถึง ครั้นปลาวางไข่หมดแล้ว สังเกตได้จากแม่พันธุ์ที่ท้องแฟบลง ผู้เพาะพันธุ์ควรตักพ่อ และแม่พันธุ์ออกจากตู้ปลาพร้อมกับเก็บตะแกรงที่กั้นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ออกมาด้วย

การอนุบาลลูกปลา

ไข่ตัวเมียที่ได้รับการผสมจากเชื้อตัวผู้ เจริญเป็นตัวอ่อนภายใน 2-3 วัน ซึ่งระยะนี้ตัวอ่อนต้องใช้อาหารจากไข่แดงที่ติดตัวมา เพื่อการอยู่รอดอีกประมาณ 2-3 วัน จากนั้นไข่แดงถูกย่อยสลายจนหมด อาหารมื้อแรกที่ผู้เพาะพันธุ์ให้แก่ลูกปลา คือ ไรแดง เมื่อลูกปลาโตพอสมควร ให้อาหารลูกน้ำแทนไรแดง เนื่องจากลูกปลาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
ข้อพึงระวัง คือ ไม่ควรเลี้ยงลูกปลาที่มีขนาดเล็กร่วมกับปลาประเภทอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่าเพราะจะได้รับอันตรายหรือเป็นอาหารของปลาเหล่านั้นได้

ที่มา : http://www.fisheries.go.th/sf-saraburi/index.php?option=com_content&view=article&id=101&Itemid=185

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น