วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555
ปลาเรนโบว์
ปัจจุบันการเลือกซื้อปลาสวยงามมาเลี้ยงไว้สักชนิดนั้นทำได้ไม่ยากค่ะ เพราะสมัยนี้มีปลาสวยงามให้เลือกซื้ออย่างมากมาย ปลาเรนโบว์ (Rainbowfishes) ก็เป็นอีกหนึ่งชนิดของปลาสวยงามที่มีผู้สนใจหันมาเลี้ยงกันมากขึ้น เพราะปลาเรนโบว์เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ชนิดของเรนโบว์ที่เลี้ยงกันโดยทั่วไปนั้นสามารถเพาะพันธุ์ได้แล้วในประเทศไทยค่ะ
ปลาเรนโบว์นั้นจะถูกจัดให้อยู่ในอันดับ (Order) Atheriniformes ซึ่งมีอยู่หลายวงศ์ (Family) เช่น Psedomolidae เป็นเรนโบว์ที่มีขนาดเล็ก มีขอบตาสีฟ้าที่รู้จักกันดีในบ้านเรา เช่น ปลาฟ็อกเทล (Pseudomogil furcatus) วงศ์ Telmarteridae หนึ่งในสมาชิกของวงศ์นี้คือ เซเลเบสเรนโบว์ และวงศ์ Melanotaenidae ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่มีสมาชิกมากที่สุด และได้รับความนิยมในการเลี้ยงมากที่สุด ปลาเรนโบว์ในวงศ์นี้จัดเป็นกลุ่มปลาเรนโบว์ที่แท้จริง (True Rainbowfishes) ลักษณะสำคัญของวงศ์นี้คือ มีลำตัวลึก มีลักษณะแบนข้าง มีลวดลายและสีสันบนลำตัว มีแถบสีดำอยู่กึ่งกลางลำตัว มีครีบหลังสองตอน ครีบหลังตอนที่หนึ่งมีขนาดเล็กกว่าครีบหลังตอนที่สอง ซึ่งในวงศ์นี้จะมีสมาชิกทั้งหมด 7 สกุล แต่ที่ได้รับความนิยมอยู่มีเพียง 4 สกุล ได้แก่ สกุล Melanotaenia สกุล Glossolepis สกุล Chilatherina และสกุล Rhadinocentrus
การเลี้ยงปลาเรนโบว์ : สำหรับในประเทศไทยนั้นเรื่องคุณภาพน้ำไม่ใช่ปัญหาในการเลี้ยง เนื่องจากคุณสมบัติของน้ำประปาส่วนใหญ่มีระดับพีเอช (pH) 6.5-8 ซึ่งเหมาะสมกับปลาเรนโบว์เกือบทุกชนิด ส่วนวิธีการเลี้ยงนั้นก็คล้ายกับการเลี้ยงปลาขนาดเล็กทั่วไป จะต่างกันก็ตรงที่การให้อาหารในการเลี้ยงพบว่า การเลี้ยงปลาเรนโบว์ควรจะให้อาหารเพียงวันละ 1 มื้อ อาจจะเป็นช่วงเช้าหรือเย็นก็ได้ จึงจะทำให้ปลาเรนโบว์มีสุขภาพ รูปทรงสวยงาม
อาหารปลาเรนโบว์ : สามารถให้ได้ทั้งอาหารสดและอาหารเม็ด ซึ่งอาหารเม็ดที่ให้ควรเป็นอาหารเม็ดที่มีส่วนผสมของพืชเป็นองค์ประกอบเช่น สาหร่ายสไปรูลิน่า แต่สำหรับผู้ที่ต้องการจะทำการเพาะพันธุ์ก็ควรที่จะให้อาหารสดค่ะ
การเพาะพันธุ์ปลาเรนโบว์ : โดยส่วนมากปลาเรนโบว์จะสืบพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ 6 เดือน ขึ้นไป แต่ถ้าใช้พ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไปก็จะทำให้ได้ลูกปลาที่มีคุณภาพดีกว่า ปลาเรนโบว์สามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี ปกติตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียที่มีอายุเท่า ๆ กัน และตัวผู้ก็จะมีสีสันเข้มกว่าตัวเมีย เรนโบว์เป็นปลาที่มีไข่ประเภทติดพันธุ์ไม้น้ำ ช่วงเวลาที่วางไข่คือ ช่วงเช้ามืด ซึ่งสิ่งที่เราสามารถสังเกตได้คือ ในช่วงเช้าสีปลาตัวผู้จะเข้มขึ้นและจะว่ายโชว์สีสันแข่งกับตัวผู้ตัวอื่น และเกี้ยวพาราสีตัวเมีย โดยตัวเมียที่สมบูรณ์จะวางไข่ได้ครั้งละประมาณ 100-200 ฟอง โดยจะทยอยวางไข่ใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์และไข่จะใช้เวลาฟักเป็นตัวอีกประมาณ 3-5 วัน สำหรับตู้ปลาที่ใช้นั้นควรใช้ตู้ที่มีขนาด 24 นิ้ว ใช้ปลา 4 คู่ ปล่อยอัตราส่วนพ่อพันธุ์ : แม่พันธุ์ 1:1 พบว่าจะสามารถให้ไข่ได้ดี และไข่ที่ได้ก็จะผสมติดได้ดีอีกด้วย
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าปลาเรนโบว์ที่นิยมเลี้ยงมีหลายชนิด แต่จะขอนำเสนอเรนโบว์ที่เป็นตัวเด่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่สามารถเพาะพันธุ์ได้แล้วในบ้านเรา เช่น
- เรนโบว์สองสี (Melanotaenia bosemani) เป็นเรนโบว์ที่เลี้ยงมานานแล้ว และมีความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีสีสันที่สะดุดตา ลำตัวมีสองสี โดยที่ครึ่งลำตัวหน้าเป็นสีน้ำเงิน ส่วนครึ่งตัวหลังจะเป็นสีเหลือง
- เรนโบว์นีออน (Melanotaenia praecox) เป็นเรนโบว์ที่มีขนาดเล็ก เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาด 6 เซนติเมตร ลักษณะเด่นของเรนโบว์ชนิดนี้คือ บริเวณลำตัวจะเป็นสีฟ้าสะท้อนแสง ครีบทั้งหมดของตัวผู้จะเป็นสีแดง ส่วนของตัวเมียจะเป็นสีเหลือง
- เรนโบว์แดง (Glossolepis incisus) เป็นเรนโบว์ที่มีขนาดใหญ่มาก หากเราเลี้ยงไว้ในตู้ขนาดใหญ่ประมาณ 2 ปี จะโตเต็มที่ได้ถึง 15 เซนติเมตร เลยทีเดียวค่ะ ลักษณะเด่นของเรนโบว์แดงคือ ตัวผู้จะมีสีแดง (บางครั้งอาจเป็นสีเลือดหมูจนถึงสีน้ำตาล) ส่วนตัวเมียจะไม่มีสี แต่ที่น่าสนใจของเรนโบว์ชนิดนี้เห็นจะเป็นการเรียงตัวของเกล็ดที่ไม่เป็นระเบียบ ซึ่งแตกต่างจากปลาสวยงามทั่วไปอย่างสิ้นเชิง
- Chilatherina fasciata ที่พบในบ้านเราส่วนใหญ่จะมีลำตัวเป็นสีเหลือง ส่วนขอบหางจะเป็นสีเทาอ่อน ๆ
- Chilatherina bleheri เป็นเรนโบว์ที่สวยงามที่สุดในสกุลนี้ลักษณะที่โดดเด่นเห็นจะเป็นลำตัวที่มีสีทองอมเขียว มีหางสีแดงเข้ม เมื่ออยู่ในช่วงผสมพันธุ์จะเห็นแถบสีสว่างบนแนวสันหัว ตั้งแต่ริมฝีปากบนไปจนถึงก้านครีบแข็งอันแรกของครีบหลังตอนที่หนึ่ง
ากตัวอย่างปลาเรนโบว์ทั้งหมดที่นำมาฝากกัน เชื่อเหลือเกินว่าคนรักปลาทุก ๆ ท่านก็คงจะหลงใหลไปกับความสวยงามของปลาเรนโบว์ ซึ่งคงจะไม่ผิดนักหากจะยกให้เป็น นางฟ้าตัวน้อย ๆ ตัวใหม่ในตู้กระจกที่บ้าน ส่วนการเลือกซื้อปลาเรนโบว์มาเลี้ยงนั้นก็ไม่ยุ่งยากมากนัก เพียงแต่เราต้องตอบให้ได้ก่อนว่า เราต้องการเลี้ยงเรนโบว์ชนิดใด จากนั้นก็ให้สังเกตดูลักษณะภายนอกของปลาที่เราสามารถเห็นได้ชัดเช่น ปลาต้องไม่ผอมจนเกินไป สีสันของปลาต้องไม่เข้มจนผิดปกติเพราะอาจมีการให้ปลากินสารเร่งสี ครีบปลาต้องมีครบไม่แหว่ง ปลาสมบูรณ์ไม่แสดงอาการเป็นโรคเช่น หางกร่อน หรือมีจุดขาวขึ้นตามลำตัว เป็นต้น และเมื่อเราได้ปลาที่มีลักษณะตรงตามความต้องการแล้วสิ่งสำคัญที่คนรักปลาควรตะหนักเสมอว่า การนำมามาเลี้ยงไว้ในตู้ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตามแต่ เราควรเอาใจใส่ในทุก ๆ เรื่องโดยเฉพาะเรื่องคุณภาพน้ำภายในตู้ เพื่อที่จะให้ปลาสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติและอยู่คู่บ้านเราไปนาน ๆ
ที่มา : http://www.nicaonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=818:-rainbowfishes-&catid=35:2012-02-20-02-56-57&Itemid=119
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น