วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปลาสวยงาม

ปลาสวยงาม หรือ ปลาตู้ (อังกฤษ: ornamental fish) คือ ปลาหรือสัตว์น้ำที่มนุษย์เลี้ยงไว้เป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินหรือเพื่ความสวยงาม ไม่ใช่เพื่อการบริโภค สัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ไม่ใช่ปลาแต่มีการนำมาเลี้ยงเพื้อการเดียวกัน เช่น เครย์ฟิช นิยมเลี้ยงไว้ในสถานที่ต่าง ๆ ในบ้านพักอาศัย อาทิ ตู้ปลา, บ่อ หรือสระ ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการประมง

ประวัติ
ไม่มีหลักฐานใดที่ยืนยันแน่ชัดว่า มนุษย์เริ่มรู้จักเลี้ยงปลามาตั้งแต่เมื่อใด โดยนักโบราณคดีได้ค้นพบบ่อปลาที่เก่าแก่ที่สุดในยุคสุเมเรียนซึ่งมีอายุกว่า 4,500 ปีมาแล้ว และปลาชนิดแรกที่เชื่อว่าเป็นปลาที่มนุษย์ได้เลี้ยงคือ ปลาคาร์ป (Cyprinus carpio) ซึ่งทั้งหมดนี้มีไว้เพื่อการบริโภค[1]
สำหรับการเลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อใดอีกเช่นกัน ในประเทศจีนและญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ปลาทอง (Carassius auratus) และปลาคาร์ป ให้มีรูปร่างและสีสันที่สวยงามแตกต่างไปสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่ในธรรมชาติ มาแล้วไม่ต่ำกว่า 300-400 ปี โดยมีการส่งออกไปทวีปยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 และถูกส่งมาเป็นบรรณาการในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งราชวงศ์ปราสาททอง แห่งอาณาจักรอยุธยา ในศตวรรษที่ 19 ด้วย
หลักการเลี้ยงปลา
การเลี้ยงปลาไว้เพื่อความเพลิดเพลินนั้น มิได้ต่างไปจากหลักการเลี้ยงปลาเศรษฐกิจเพื่อการบริโภคเท่าใดนัก เพียงแต่มีอัตราส่วนที่ย่อขนาดลงมา โดยอุปกรณ์การเลี้ยงหลัก ๆ ได้แก่

ตู้ปลา คือ กระจกหรือพลาสติกใสที่ต่อขึ้นมา เพื่อการเลี้ยงปลา โดยมากจะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ก็มีรูปทรงอื่นๆวางขายในท้องตลาดเช่นกัน เช่นสี่เหลี่ยมจตุรัส ทรงกระบอก มีขนาดหลากหลาย ในตลาดปลาสวยงามของประเทศไทยมักจะวัดขนาดของตู้ปลาในหน่วย นิ้ว ซึ่งเป็นการเรียกตามหน่วยวัดของอุตสาหกรรมกระจกในสมัยก่อน โดยเรียกด้านหน้าตู้จากมุมมองของผู้เลี้ยงว่าด้านกว้าง ระยะจากด้านหน้าไปถึงด้านหลังตู้ว่าด้านลึก และระยะจากด้านล่างพื้นตู้ไปจนถึงขอบบนตู้จะเรียกว่าด้านสูง และมักจะเรียกขนาดของตู้ปลาอย่างย่อๆตามขนาดของด้านกว้างเท่านั้นเพื่อความสะดวก เช่นตู้ปลาที่กว้าง 24 นิ้ว สูง 14 นิ้ว ลึก 12 นิ้ว ว่าตู้ 24 นิ้ว และใช้หน่วยวัดความหนาของกระจกที่นำมาใช้ทำตู้ปลาเป็น หุน แต่ในปัจจุบันเริ่มที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้หน่วยวัดระบบเมตริกกันมากขึ้นเพราะเป็นหน่วยวัดที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกว่า เข้าใจได้ง่ายกว่า และตามสินค้าจากต่างประเทศเช่นประเทศญี่ปุ่นที่มักจะวัดขนาดของตู้ปลาเป็นเซ็นติเมตร
ระบบกรองน้ำ (Filtration system) เป็นระบบบำบัดน้ำโดยการเพิ่มที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ย่อยสลายที่มีอยู่ในน้ำ ให้ปริมาณจุลินทรีย์นั้นมีมากพอที่จะบำบัดของเสียจากปลาได้เพียงพอ ทั้งนี้เพราะปลาขับถ่ายในน้ำซึ่งจะทำให้น้ำเน่าเสีย ระบบกรองน้ำมีทั้งระบบกรองใต้กรวดทรายในตู้ ระบบกรองในตู้ทั้งแบบติดกับตัวตู้และแขวนลอย และระบบกรองนอกตู้
ปั๊มลม (air pump) เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ทำงานโดยการปั๊มอากาศลงไปในน้ำผ่านหัวทราย หรือหัวปล่อยอากาศที่มีรูพรุน ให้ผุดขึ้นมาเป็นฟองเล็กๆจำนวนมากเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวน้ำให้สัมผัสกับอากาศและแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้มากขึ้น ทำให้สามารถเลี้ยงปลาจำนวนมากในตู้ที่มีพื้นที่จำกัดได้ ใช้ไฟฟ้าในการทำงาน มีทั้งแบบใช้ไฟฟ้ากระแสสลับและแบตเตอรี่
อาหาร แบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

อาหารสด ได้แก่ อาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงใดๆหรืออาหารที่ยังมีชีวิต เช่น ไรแดง, อาร์ทีเมีย (Artemia,ไรทะเล), ลูกน้ำ, กุ้งฝอย, ลูกปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลานิล ปลาสอด รวมถึงแมลงหลายประเภท เช่น จิ้งหรีด และตัวอ่อนแมลง เช่น หนอนนก หนอนแดง รวมถึงเนื้อสัตว์และพืชประเภทต่างๆเช่น เนื้อกุ้งสด,แช่แข็ง หัวใจวัว หัวใจหมู ไข่กุ้ง ซึ่งในปัจจุบันก็มีผู้ผลิตที่ผลิตอาหารสดเหล่านี้ในรูปแบบแพ็คแช่แข็งขายเพื่อเพอ่มความสะดวกในการใช้และยืดอายุการเก็บรักษาอาหารสดของผู้เลี้ยง

อาหารแห้ง เป็นอาหารสำเร็จรูปที่นำวัตถุดิบประเภทพืชและเนื้อสัตว์มาบดผสมกับวิตามินและสารปรุงแต่งต่างๆ จากนั้นจึงทำให้เป็นเม็ดหรือผงหยาบหรือแผ่นเกล็ดและอบแห้ง ซึ่งจะสามารถเก็บรักษาได้นานหลายเดือนหรือหลายปีโดยไม่ต้องแช่เย็น เพิ่มความสะดวกให้ผู้เลี้ยงกว่าอาหารสดมาก โดยมากจะผลิตเป็นเม็ดกลมขนาดต่างกัน เรียกว่า "อาหารเม็ด" หรือเป็นแผ่น เรียกว่า "อาหารแผ่น" ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้มีทั้งแบบจมน้ำ กึ่งจมกึ่งลอย และลอยน้ำ

อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ ถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์เสริม ใช้สำหรับควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ต่ำหรือสูงเกินไป ทั้งนี้เนื่องจากปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น หากอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันจะทำให้ปลาเจ็บป่วยได้ง่าย อุปกรณ์เพิ่มอุณหภูมิ เรียกว่า "heater" (ฮีทเตอร์) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ขดลวดความร้อนบรรจุในหลอดแก้วหรือท่อโลหะจุ่มลงในน้ำเพื่อเพิ่มอุณหภูมิให้กับน้ำในตู้ สามารถตั้งค่าอุณหภูมิที่ต้ิองการได้ เมื่อฮีทเตอร์ทำงานจนถึงค่าที่ตั้งไว้ก็จะตัดการทำงาน และเมื่ออุณหภูมิลดลงมาก็จะทำงานอีกครั้ง อุปกรณ์ลดอุณหภูมิเรียกว่า "chiller" (ชิลเลอร์) ส่วนมากจะใช้คอมเพรสเซอร์เช่นเดียวกับตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ แต่ใช้การนำน้ำในตู้ไหลผ่านส่วนทำความเย็นแทน แต่ก็มีชิลเลอร์จากผู้ผลิตหลายรายที่ใช้เพลเทียร์ (peltier) หรือ Thermoelectric Cooler (TEC.)ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้หลักเทอร์โมอิเล็กทริก (Thermoelectric effect) ในการทำความเย็นแทนคอมเพรสเซอร์

ชนิดของปลา
ชนิดของปลาแบ่งออกได้ตามประเภทของปลาใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภท คือ ปลาน้ำจืด ปลาน้ำกร่อย และปลาน้ำเค็ม นอกจากนี้แล้วยังมีปลาอีกประเภท ซึ่งเป็นปลาที่พิการหรือมีความผิดปกติทางด้านเม็ดสีที่ทำให้มีรูปร่างและสีสันแตกต่างออกไปจากปลาปกติทั่วไป เรียกว่า "ปลาแปลก" ก็เป็นที่นิยมเลี้ยงอีกเช่นกัน และมีราคาที่สูงกว่าปลาปกติเสียอีก

ปลาสวยงามในประเทศไทย
ในประเทศไทย การเลี้ยงปลาสวยงามนั้นมีมานานแล้วตั้งแต่ยุคโบราณ คนไทยนิยมเลี้ยงปลาที่เป็นปลาพื้นบ้าน อาทิ ปลากัดหรือปลาเข็มที่ได้พัฒนาสายพันธุ์ให้ใหญ่กว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพื่อการต่อสู้กันถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับการชนไก่ โดยมีการพนันผสมอยู่ด้วย[5]

ในยุครัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 5 ปลาหางนกยูงได้ถูกนำเข้ามาเลี้ยงในอ่างบัวเป็นครั้งแรก ตามบ้านของเศรษฐีและผู้มีฐานะในสังคม ดั่งปรากฏความอยู่ในนวนิยายเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ความตอนหนึ่งบรรยายถึง แม่พลอย ตัวละครเอกของเรื่อง นั่งดูปลาหางนกยูงในอ่างบัว
ต่อมา ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังสงครามยุติไม่นาน ได้มีผู้ประกอบการส่งออกปลาสวยงามไปสู่ต่างประเทศ โดยทำการรวบรวมพันธุ์ปลาพื้นบ้านจากแหล่งน้ำในธรรมชาติเป็นหลัก และจากการเพาะพันธุ์บางส่วน คือ นายสมพงษ์ เล็กอารีย์ และนายพิบูลย์ ประวิชัย ซึ่งร่วมกันในนาม "สมพงษ์ อะควาเรี่ยม" จัดได้ว่าเป็นผู้ประกอบการค้าปลาสวยงามอย่างเป็นล่ำเป็นสันรายแรก ๆ โดยเฉพาะนายสมพงษ์นั้น เป็นผู้ค้นพบพันธุ์ปลาชนิดใหม่ของโลกด้วยอย่างน้อย 3 ชนิด ซึ่งสมพงษ์ อะควาเรี่ยม นั้นก็ยังดำเนินกิจการจนถึงปัจจุบัน
การเลี้ยงปลาสวยงามนั้นได้รับความนิยมอย่างมาก โดยถือเป็นสัตว์เลี้ยงที่นิยมเลี้ยงกันมากเช่นเดียวกับ สุนัขและแมว โดยมีหลักค้าขายใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ ตลาดซันเดย์ในบริเวณตลาดนัดสวนจตุจักร และอีกที่ คือ ตลาดธนบุรี หรือที่นิยมเรียกกันว่า สนามหลวง 2 ซึ่งเป็นสัดส่วนของตลาดนัดในฝั่งธนบุรี จนเกิดเป็นอุตสาหกรรมการเพาะขยายพันธุ์และการค้าขายอีกประเภทหนึ่ง
โดยที่แหล่งเพาะพันธุ์ใหญ่ที่สุดของประเทศ อยู่ที่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีการจัดตั้งขึ้นเป็นสหกรณ์ โดยการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง
สำหรับอุตสาหกรรมปลาสวยงามในประเทศไทยแล้ว ถือได้ว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และส่งออกไปขายยังต่างประเทศมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง โดยมีมูลค่าการส่งออกปีหนึ่งประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ปลาที่เพาะพันธุ์ได้และจับจากแหล่งธรรมชาติภายในประเทศมีสัดส่วนค้าขายภายในประเทศเพียงแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น
และยังมีการจัดงานนิทรรศการเกี่ยวกับปลาสวยงามขึ้นเป็นประจำ เช่น งานประมงน้อมเกล้า ที่จัดโดย กรมประมง และ งานปลาสวยงามแห่งชาติ ที่จัดโดย บริษัท เดอะ มอลล์ กรุ๊ป ร่วมกับ สมาคมปลาสวยงามแห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งภายในงานจะมีทั้งการแสดงพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ การประกวด การจัดตกแต่งตู้ปลา การขายปลาสวยงามและอุปกรณ์ รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องปลาและสัตว์ประเภทต่าง ๆ อีกด้วย

ปลาสวยงามในต่างประเทศ
สำหรับกิจการปลาสวยงามในต่างประเทศหรือระดับสากลนั้น จะมีศูนย์กลางอยู่ที่เอเชียอาคเนย์เป็นหลัก[11] เพราะมีภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงและเลี้ยงดู หลายประเทศในภูมิภาคแถบนี้จึงมีฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาสวยงามอยู่มากมาย ทั้ง ประเทศไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์
โดยเฉพาะที่สิงคโปร์มีฟาร์มเพาะพันธุ์ปลามังกรหรือปลาอะโรวาน่าในระดับชั้นนำอยู่มากมาย และจัดได้ว่าเป็นประเทศที่เป็นผู้ส่งออกปลาสวยงามสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก กินส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 20.71 ของโลก ในปี พ.ศ. 2550 มีมูลค่าการส่งออกมากถึง 319.093 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อีกทั้งเป็นประเทศที่ทุกปีจะมีงานนิทรรศการปลาสวยงามระดับโลก คือ Aquarama ซึ่งจะจัดเป็นประจำในปลายเดือนพฤษภาคมของทุกปี นับได้ว่าเป็นงานที่รวมของผู้ที่สนใจและนักธุรกิจในแวดวงปลาสวยงามทั่วโลกอย่างแท้จริง โดยเริ่มจัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบัน[11]
ที่ฮ่องกง มีตลาดค้าปลาสวยงามแห่งใหญ่ อยู่ย่านมงก๊ก ซึ่งเป็นแหล่งช้อปปิ้งที่ขึ้นชื่อ มีชื่อว่า Goldfish Market โดยเดินทางใช้รถไฟใต้ดิน ลงที่สถานีมงก๊ก ออกทางสถานี B3 ตลาดจะอยู่ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร ของถนนถ่งไช่ ที่ตลาดแหล่งนี้จะเป็นอาคารพาณิชย์ขนานกันสองฝั่งยาวไปตามทางถนน ซึ่งการขายปลาสวยงามที่นี่ส่วนใหญ่ด้วยเหตุจำกัดเรื่องเนื้อที่ที่มีอยู่ไม่มาก ผู้ค้าจึงมักนำปลาบรรจุใส่ถุงแล้วแขวนไว้โชว์สำหรับลูกค้า ผิดไปจากการค้าขายปลาสวยงามในหลาย ๆ ประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งปลามังกรที่มีราคาแพง ซึ่งธุรกิจปลาสวยงามของที่นี่จะมีผู้ค้าส่งนำปลาชนิดใหม่ ๆ เข้ามาทดลองตลาดก่อน ก่อนจะกระจายไปสู่ผู้ค้าปลีกรายอื่น ๆ รวมถึงในหลายประเทศด้วย ที่นี่จึงมักมีปลาชนิดใหม่เข้าสู่ตลาดก่อนที่อื่นเสมอ แต่ราคาของอาหารปลาแบบสดนั้น เช่น ไรทะเลมีราคาขายที่สูงมาก

ที่มา http://th.wikipedia.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น